top of page

“จรรยาบรรณ” ของนายหน้าและตัวแทน อสังหาริมทรัพย์

Updated: Jun 7, 2019



การทำงานเป็นนายหน้าและตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นอาชีพที่เย้ายวนใจใครหลายๆ คน ด้วยผลตอบแทนที่น่าพอใจ การทำงานที่ท้าทายและอิสระ ยิ่งทำดีทำเยอะ มีความขยัน ซื่อสัตย์ ก็ยิ่งประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก



แต่ปัญหาที่พบเจอมากมายของนายหน้าที่หลุดออกจากวงจรไปก่อนคือ การหวังรายได้ที่ฉาบฉวย การไม่เข้าใจอย่างถ่องเเท้ถึงงานที่กำลังทำ และการไม่ซื่อตรงทั้งต่อลูกค้าและจริยธรรมของตนเอง จนทำให้เกิดการทำผิดสิ่งที่เรียกว่า “จรรยาบรรณ” ของตัวนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ขึ้น ดังที่เห็นเป็นข่าวและรู้กันในวงการ


ดังนั้นสิ่งที่ควรยึดถือไว้อย่างหนักแน่นในการทำงานของนายหน้าคือ “จรรยาบรรณ” ซึ่งหลักเกณฑ์ของ “จรรยาบรรณ” ที่ดี ของนายหน้าและตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ สามารถสรุปแบบง่ายๆและทำความเข้าใจกันแบบเพลินๆ ได้คือ...


  1. ต้องมีความสุจริต ซื่อสัตย์ ทั้งกับเจ้าของทรัพย์ที่ให้บริการอยู่และต่อตนเอง ด้วยการไม่ทำผิดกฏหมาย และจริยธรรม ศีลธรรมที่ดี เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยการคดโกง คิดไม่ซื่อ หวังแต่จะเอาเปรียบลูกค้าเสียแล้ว คงยากที่จะประสบความสำเร็จและอยู่ได้นานในวงการนี้

  2. บอกถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายควรจะได้รับอย่างครบถ้วน

  3. ให้คำปรึกษาด้วยข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน ไม่บิดบังข้อมูลความจริงที่มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้า

  4. เก็บค่าบริการหรือค่า “บำเหน็จ” ค่าธรรมเนียมตามข้อตกลงที่ทำสัญญากันไว้

  5. ไม่เสนอลดค่านายหน้า เพื่อล่อลวงให้เจ้าของทรัพย์ไปผิดสัญญาหรือยกเลิกสัญญากับคนอื่นเพื่อมาทำสัญญากับตัวเองแทน

  6. ไม่ไปเรียกเก็บเงินใดๆ เพิ่ม หลังจากการซื้อ-ขายแล้ว จากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอีก

  7. ยึดถือผลประโยชน์ลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่ชักจูง ล่อลวงให้เจ้าของทรัพย์ต้องลดราคาเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์

  8. เก็บรักษาความลับของลูกค้า

  9. ไม่ใส่ร้ายป้ายสีต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ

  10. ทำหน้าที่ “นายหน้า” และ “ตัวแทน” อสังหาริมทรัพย์ ด้วยความดี และโปร่งใส่ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับบุคคลทั่วไป

นอกจากนายหน้าและตัวแทนอสังหาฯ ต้องมีจรรยาบรรณแล้ว ในยุคปัจจุบันที่นายหน้าและตัวแทนมักมีที่ปรึกษาทางการตลาด ที่ปรึกษาเองก็ต้องเป็นที่ปรึกษาที่ดีมีจรรยาบรรณไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะที่ปรึกษาไม่ได้ทำหน้าที่เพียงนำเอาเทคนิคที่ดีหรือคอยแนะนำสิ่งดีๆ ให้กับการทำงานของนายหน้าเท่านั้น แต่หากเห็นการทำงานส่วนใดที่ต้องได้รับการแนะนำ หรือส่อไปในทางที่อาจจะผิดจรรยาบรรณ ที่ปรึกษาเองก็ต้องแนะนำให้นายหน้ากลับสู่การเป็นนายหน้าที่ดี เพื่อการประสบความสำเร็จในระยะยาวของตัวนายหน้าและที่ปรึกษาด้วยนั่นเอง


อ้างอิง : บันทึกข้อตกลงร่วมสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยว่าด้วย จรรยาบรรณนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2544 ; https://www.treba.or.th/agents-ethics/



โดยทีมงาน SAT-MARKETING : (www.sat-marketing.com)

Line Official : @sat-marketing

116 views0 comments

Comments


bottom of page